วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Pop Art


                                                   ศิลปะประชานิยม  Pop Art 



pop-art
กลางคริสต์ทศวรรษ 1950-ปลาย 1960
พ็อพ อาร์ต เป็นศิลปะที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรมพ็อพ (พ็อพพูลาร์ คัลเจอร์) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมระดับมหาชน ที่ถูกจัดว่าเป็นวัฒนธรรมหรือศิลปะระดับล่าง โดยมีศิลปะชั้นสูงเป็นขั้วตรงกันข้าม ศิลปะชั้นสูงที่ว่านี้คือ บรรดางานศิลปะที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นของดีมีคุณภาพ แต่ละชิ้นมีความเป็นต้นแบบต้นฉบับ มีเพียงหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร มีคุณค่าเสียจนสถาบันศิลปะหรือสถาบันระดับรัฐต้องซื้อเก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ของประเทศชาติ
ระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1940-1950 แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) กระเสือกกระสนแสวงหาชื่อเสียงและการยอมรับ จนกระทั่งนักวิจารณ์ยกย่อง พิพิธภัณฑ์ซื้องานเพื่อเปิดแสดง แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ ภาพเขียน แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ กลายเป็นศิลปะสมัยใหม่ชั้นสูง เป็นสิ่งที่จำกัดอยู่ในชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดี เป็นของจำเพาะสำหรับคนในวงการศิลปะ
ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมพ็อพ ที่เป็นวิถีปฏิบัติและรสนิยมแบบตลาดดาษดื่น เป็นวัฒนธรรมแห่งการเสพสินค้าที่ผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม มีจำนวนมากๆ ทุกชิ้นผลิตออกมาเหมือนกัน คนหมู่มากซื้อมาใช้เหมือนกันไปหมด เทียบไม่ได้กับงานฝีมือ งานสร้างสรรค์ชั้นสูง
พ็อพ อาร์ต คือแนวศิลปะที่เป็นปฏิกริยาโต้ตอบกับศิลปะลัทธิ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ซึ่งเน้นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก การแสดงความเป็นส่วนตัว มีแนวงานเป็นของตัวเองและเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ แต่ พ็อพ อาร์ต กลับหยิบยืมเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด เช่น วัสดุสำเร็จรูป มานำเสนออย่างมีชีวิตชีวา งานของ พ็อพ อาร์ต มักจะมีอารมณ์ขัน ขี้เล่นและชอบเสียดสี เย้ยหยันต่อศิลปะและชีวิต
ริชาร์ด แฮมิลตัน (Richard Hamilton) ศิลปินชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่ทำงานในแนว พ็อพ อาร์ต เมื่อปี 1956 โดยการใช้เทคนิคปะติดภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ ต่อมาส่งอิทธิพลไปสู่สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ศิลปะกระแสนี้มีความเคลื่อนไหวคึกคักที่สุดในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 จนถึง 1960
ต้นตอทางรูปแบบและความคิดสามารถสืบย้อนกลับไปที่กลุ่ม ดาด้า ในด้านของการใช้สินค้าบริโภค ข้าวของเครื่องใช้ (วัสดุสำเร็จรูป) อารมณ์ขันและการต่อต้านศิลปะชั้นสูง และแน่นอนว่า นีโอ-ดาด้า (Neo-Dada) ก็มีอิทธิพลต่อ พ็อพ อาร์ต ด้วยเช่นกัน ต่างกันตรงที่ นีโอ-ดาด้า นำเอาฝีแปรงเขียนภาพแบบ แอ็บสแตรค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ เข้ามาผสมด้วยเท่านั้น
รูปแบบและเนื้อหาของ พ็อพ อาร์ต ไปกันได้ดีกับวิถีชีวิตอเมริกันในคริสต์ทศวรรษ 1960 ยุคที่บริโภคนิยม สินค้าอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมพ็อพกำลังเฟื่องฟูสุดขีด ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย บ้านเมืองเต็มไปด้วยสื่อโฆษณา สิ่งพิมพ์ ภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจ เป็นวัฒนธรรมแบบเสพภาพและภาพลักษณ์สำหรับมองดู พ็อพ อาร์ต จึงแสดงความเป็นอเมริกันได้อย่างถึงพริกถึงขิง
พ็อพ อาร์ต คืองานศิลปะของคนเมือง เป็นวัฒนธรรมเมืองโดยแท้ หากลองเปรียบเทียบ “เรื่อง” หรือ “หัวเรื่อง” ที่ศิลปินในโบราณชอบนำไปเขียนภาพ ศาสนา ตำนาน และประวัติศาสตร์คงเป็นหัวเรื่องยอดนิยมในอดีต ในคริสต์คริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 ธรรมชาติและทิวทัศน์คือแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ เรื่องราวเกี่ยวกับคนและวิถีชีวิตของคนก็เช่นกัน จิตรกรกลุ่ม อิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) เขียนภาพชีวิตคนในเมือง ปิกาสโซ (Picasso) และ มาติสส์ (Matisse) ต่างก็ทำเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและคนมาตลอดชีวิต มีแต่ พ็อพ อาร์ต นี่แหละที่มีวัฒนธรรมพ็อพในเมืองและสินค้าข้าวของต่างๆ เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นครั้งแรกที่ศิลปินสนใจแสดงออกถึงปรัชญาของทุนนิยม บริโภคนิยมอย่างเอาจริงเอาจัง
รูปแบบ วิธีคิด และวิธีทำงานของ พ็อพ อาร์ต ได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปินและกระแสศิลปะในยุคต่อมาเป็นอย่างมาก ศิลปะในลัทธิหลังสมัยใหม่ หรือ โพสต์โมเดิร์นนิสม์ (Postmodernism) ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในไทยขณะนี้ ก็เติบโตมาจาก พ็อพ อาร์ต นี่เอง
คงจะเพราะ พ็อพ อาร์ต เล่นกับภาพลักษณ์และมีการนำเอาการ์ตูน สินค้า และสิ่งออกแบบที่คนชอบและคุ้นเคยมาใช้นั่นเอง ทำให้ พ็อพ อาร์ต เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป กลายเป็นที่ “ประชานิยม” จริงๆ ไม่ใช่แค่แนวคิดเกี่ยวกับของฮิตเท่านั้น แต่ พ็อพ อาร์ต ได้ทำให้มันเป็นของฮิตขึ้นจริงๆ เลยทีเดียว
ในความสำเร็จของ พ็อพ อาร์ต ในด้านที่เกี่ยวกับการจัดการกับระดับสูง-ต่ำของศิลปะ อาจมองได้สามทางว่า ศิลปินกลุ่มนี้ได้นำเอาศิลปะวัฒนธรรมจากสองขั้วสูง-ต่ำมาเจอกัน หรืออาจมองได้ว่าพวกเขาได้ทำของต่ำให้สูง นำของระดับล่างมาทำให้เป็นศิลปะชั้นสูง หรือไม่ก็เป็นการทำให้ของสูงโน้มลงมาแตะดิน
เป็นการพยายามทำลายหอคอยงาช้างที่พวก โมเดิร์นนิสต์ (Modernist, Modernism) สร้างเอาไว้สูงตระหง่าน สูงขึ้นหิ้งเป็นของเฉพาะกลุ่ม แปลกแยกออกจากสังคม กลายเป็นอะไรที่เป็น “อุดมคติ” เป็นแบบแผนและแข็งตัวจนเกินไป แต่เอาเข้าจริงๆ การทำลายหอคอยงาช้างของ โมเดิร์นนิสต์ แล้วประกาศว่าเป็น โพสต์โมเดิร์น จะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงศิลปะมากขึ้นหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ชวนคิดอยู่จนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าโดยแนวคิดรวมๆ ของ พ็อพ อาร์ต คือ การท้าทายความคลาสิคอันสูงส่งของศิลปะประเพณีที่อยู่ในกรอบระเบียบอันเคร่งครัด และยังทำการล้อเลียนหยอกเย้ากับความเป็นปัจเจกเฉพาะตัว ละเลยความเป็นต้นฉบับที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครตามแนวทางของ ศิลปะสมัยใหม่ (โมเดิร์น อาร์ต) แต่เอาเข้าจริงๆ ศิลปินพ็อพแต่ละคนต่างก็มีรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะไม่เหมือนศิลปินอื่นๆ (แต่ไปเหมือนงานพาณิชย์ศิลป์ที่ตัวเองไปหยิบยืมมา)
แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ไม่เป็นเพียงหัวหอกของกลุ่มศิลปินพ็อพ แต่เป็นศิลปินชั้นนำระดับซูเปอร์สตาร์ของอเมริกาหรือของโลกเลยทีเดียว นอกจากจะเป็นศิลปินที่มีผลงานยอดเยี่ยมเป็นที่ชื่นชอบแล้ว วอร์ฮอล ยังเป็นดาวสังคมของนครนิวยอร์คอีกด้วย เรียกได้ว่าทั้งชีวิตและผลงานของเขาเป็น “พ็อพ” มากๆ เลยทีเดียว
ลักษณะเฉพาะตัวของ วอร์ฮอล ที่ทุกคนรู้จักดีคือ การทำงานจิตรกรรมด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน เทคนิคดังกล่าวเป็นวิธีการสร้างงานพิมพ์ในระดับอุตสาหกรรม มักจะใช้ในแวดวงโฆษณาขายสินค้า เช่น ทำโปสเตอร์ บิลบอร์ด และพิมพ์ลวดลายลงบนเสื้อยืด ในสมัยนั้นเทคนิคนี้ยังถือว่าเป็นของค่อนข้างใหม่
แอนดี้ วอร์ฮอล ใช้เทคนิคอุตสาหกรรมนี้พิมพ์ภาพดารา นักร้อง และคนดังระดับตลาดมหาชน เช่น พิมพ์ภาพ มาริลีน มอนโร อลิซาเบ็ธ เทเลอร์ และ เอลวิส เพรสลีย์ บ้างก็พิมพ์ภาพผลงานจิตรกรรมระดับคลาสสิคที่ขึ้นหิ้งของโลก เช่น ภาพ โมนา ลิซ่า (ยอดฮิตที่สุดของการถูกนำไปใช้ ถูกนำไปล้อเลียน) ภาพเทพ วีนัส ฝีมือ บอตติเซลลี ภาพทั้งหมดนี้ วอร์ฮอล นำมาพิมพ์ด้วยสีฉูดฉาดเตะตาในจำนวนเยอะๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียงกันเป็นพรืดแบบสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตซ้ำได้ทีละมากๆ
รอย ลิชเท็นสไตน์ (Roy Lichtenstein) เป็นศิลปินพ็อพอีกคนที่มีชื่อเสียงในระดับซูเปอร์สตาร์ แต่ยังไม่ถึงขั้น “ดาวสังคมไฮโซ” เท่า วอร์ฮอล
ลิชเท็นสไตน์ มีลักษณะเฉพาะตัวด้วยการสร้างงานให้เป็นแนวการ์ตูน เขาหยิบยืมรูปแบบของสิ่งพิมพ์การ์ตูนอุตสาหกรรมที่เล่าเรื่องเป็นช่องๆ มีลักษณะพิเศษอยู่ที่การตัดเส้นภาพลายเส้นด้วยเส้นทึบดำ สร้างสีและน้ำหนักของภาพด้วยการใช้แถบเม็ดสี แถบริ้วสี (เม็ดสกรีนและแพนโทน) บางครั้ง ลิชเท็นสไตน์ ถึงกับนำภาพจากหนังสือการ์ตูนที่วางขายในท้องตลาดมาดัดแปลงเล็กน้อยให้เป็นผลงานของตัวเอง
จุดที่พิเศษไปจากการ์ตูนสิ่งพิมพ์อุตสาหกรรมราคาถูกก็คือ ลิชเท็นสไตน์ นำลักษณะดังกล่าวมาทำเป็นงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ เรียกได้ว่า ระบายสีทำงานจิตรกรรมให้เป็นลักษณะอุตสาหกรรม หรือพูดอีกอย่าง ทำสิ่งพิมพ์ให้เป็นจิตรกรรม ทำ ศิลปะระดับล่าง (โลว์ อาร์ต) ให้เป็น ศิลปะชั้นสูง (ไฮ อาร์ต) หรือสลับกัน
และที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกับ แอนดี้ วอร์ฮอล คือการหยอกล้องานคลาสสิคบรมครู ลิชเท็นสไตน์ นำเอาภาพชั้นยอดอย่างเช่น งานสีน้ำมันภาพโบสถ์อันโด่งดังของ โมเนต์ (Monet) ภาพคนเดินหว่านเมล็ดพันธุ์พืชของ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) ภาพนามธรรมเรขาคณิตของ มงเดรียน (Mondrian) และภาพปลาในโหลแก้วของ มาติสส์ มาทำเป็นจิตรกรรมและภาพพิมพ์ในลักษณะที่เป็นสิ่งพิมพ์อุตสาหกรรม ดูเหมือนสินค้าแบบพ็อพในตลาด
คนโดยทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่าประติมากรรมหรือรูปปั้นเมื่อใด ก็มักจะนึกถึงงานแกะสลักหินอ่อนรูปเหมือนจริง อย่างเช่น รูป เดวิด ของ ไมเคิลแองเจโล รูปชายหญิงจูบกันของ โรแดง หรือไม่ก็รูปหล่อสำริดที่เป็นอนุสาวรีย์วีรบุรุษวีรสตรีแห่งชาติ แต่ประติมากรรมของ เคลส์ โอลเด็นเบิร์ก (Claes Oldenberg) ปฏิเสธเรื่องราวยิ่งใหญ่แบบคลาสสิคมหากาพย์ทั้งหลาย โอลเด็นเบิร์ก หยิบจับเอาข้าวของในชีวิตประจำวันสมัยใหม่ เช่น ไม้หนีบผ้ากระดุม ก็อกน้ำและสายยาง และขนมพายมาทำประติมากรรม ขยายขนาดจนใหญ่โตมโหฬาร เรียกรอยยิ้มจากคนดูได้เป็นอย่างดี
นอกจากทำของเล็กให้ใหญ่โตแล้ว โอลเด็นเบิร์ก ยังทำงานอีกชุดที่เป็น ประติมากรรมอ่อนนุ่ม (soft sculpture) เขานำเอาข้าวของเครื่องใช้กระจุกกระจิกมาขยายใหญ่โตเกินปกติ และยังใช้วัสดุนุ่มนิ่มมาสร้างประติมากรรม ทำให้สิ่งของเหล่านั้นอ่อนปวกเปียกผิดธรรมชาติของวัตถุต้นแบบนั้นๆ เรียกได้ว่า ท้าทายการคิดการทำประติมากรรมในแบบจารีตประเพณีมากๆ เลยทีเดียว
แม้ว่าความเคลื่อนไหวของ พ็อพ อาร์ต จะมีความตื่นตัวที่สุดในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่แนวทางของ พ็อพ อาร์ต ยังคงร่วมยุคร่วมสมัยกับสังคมและวงการศิลปะในปัจจุบันเป็นอย่างดี เพราะพวกเรายังอยู่ในสังคมยุควัฒนธรรมพ็อพ หรือตามที่มีเสียงกระหึ่มดังว่าเป็นสังคมยุค หลังสมัยใหม่ (โพสต์โมเดิร์น) กันไปแล้ว
เป็นยุคสมัยที่อะไรๆ จากยุคสมัยใหม่ก็ถูก “ถอดรื้อ” และถูกตรวจสอบไปเสียหมด เป็นยุคที่อะไรๆ ก็ถูก “ทำให้พ็อพ” ของสูงก็ถูกทำให้กลายเป็นของสามัญ กลายเป็นสินค้าสำหรับซื้อขายไปเสียทุกอย่าง
ศิลปิน: จิม ไดน์ (Jim Dine, 1935-), ริชาร์ด แฮมิลตัน (Richard Hamilton, 1922-), เดวิด ฮอคนีย์ (David Hockney,1937-), โรเบิร์ต อินเดียนา (Robert Indiana, 1928-), อาร์.บี. คิทาจ์ (R.B. Kitaj, 1932-), รอย ลิชเท็นสไตน์ (Roy Lichtenstein, 1923-1997), เคลส์ โอเด็นเบิร์ก (Claes Oldenberg, 1929-), ซิกมาร์ โพลเก้ (Sigmar Polke, 1941-), แกร์ฮาร์ด ริชเตอร์ (Gerhard Richter, 1932-), เจมส์ โรเซ็นควิสท์ (James Rosenquist, 1933-), เอ็ด รัสก้า (Ed Ruscha, 1937-), แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol, 1927-1987), ทอม เวสเซ็ลแมนน์ (Tom Wesselmann, 1931-)

Queen of Hearts Pop Art StyleFantastic pop art style layout   

Pop art style     Paul Boddum- Pop Art style- Gesso
Gutenberg in Pop Art Style              Marilyn - pop art style

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น