หากจะถามถึงความหมายที่แท้จริงของ "ศิลปะ" แน่นอนที่สุดเราจะพบว่า มีความหมายแตกต่างแยกกันออกไปหลายความหมายด้วยกัน ซึ่งแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นๆ จะมองศิลปะในแง่มุมใด ภายใต้หลักการหรือทฤษฎีใด ซึ่งมุมมองที่ต่างกันนี้เอง ทำให้เราได้คำนิยามของศิลปะที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม ฮาโรลด์ เอ็ช ติตุส (Harold H. Titus) ได้ค้นคว้า และรวบรวมทฤษฎีศิลปะ (Theories of Art) ไว้ซึ่งพบว่ามีทั้งหมด 7 ทฤษฎีด้วยกัน ซึ่งการให้ความหมายของศิลปะก็แตกต่างกันไปตามแนวคิดหลักของทฤษฎีดังกล่าวนี้ ซึ่งทฤษฎีศิลปะทั้ง 7 ทฤษฎี มีดังต่อไปนี
1. ศิลปะ คือ การเลียนแบบ (Art as Imaitation)
ทฤษฎีนี้เป้นทฤษฎีเก่าแก่ มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยมีพื้นฐานความคิดมาจากเพลโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle) ซึ่งถือว่าการเลียนแบบวัตถุธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน จัดว่าเป็นสิ่งสวยงามที่สุด ดังนั้นความคิดแก่นของทฤษฎีนี้ การเลียนแบบวัตถุธรรมชาติอะไรบางอย่าง การเลียนแบบที่ปรากฏออกมาก็คือศิลปะ นั่นเอง
2. ศิลปะ คือ ความพึงพอใจ (Art as Pleasure)
ทัศนะนี้มองว่า ศิลปินคือบุคคลซึ่งพึงพอใจในความงามและใช้เวลาของเขาสร้างสิ่งสวยงาม ศิลปินจึงพึงพอใจในงานของตัวเอง และยังหวังให้บุคคลอื่นพึงพอใจในผลงานของตนด้วย ดังนั้น ความหมายของศิลปะก็คือ การให้ความพึงพอใจทางสุนทรียะ
3. ศิลปะคือการเล่น (Art as Play)
ความคิดที่ว่า ศิลปะคือรูปแบบของการเล่นนี้ เริ่มจากแนวคิดของ คานต์ (Kant) จากนั้นชิลเลอร์ (Schiller) นำมาปฏิบัติ และสเปนเซอร์ (Spencer) นำไปพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นทฤษฎีที่เรียกกันว่า "Spieltrieb" หรือเรียกว่า ทฤษฎีแรงกระตุ้นให้เล่น ทั้งนี้ การเล่นนั้นถือว่าเป็นการแสดงออกที่เกิดจากชีวิตจิตใจจิงต่างไปจากกิจกรรมที่เป็นงาน (Work) ของมนุษย์แต่ให้ความพึงพอใจสูง
สเปนเซอร์ ถือว่า ศิลปะคือการแสดงออกของพลังงานส่วนเกินเช่นเดียวกับการเล่น ศิลปะก็คือการแสดงออกซึ่งเกิดขึ้นเองของพลังที่สำคัญแก่ชีวิต ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์
4. ศิลปะ คือ อันตรเพทนาการ (Art as Empathy)
อันตรเพทนาการ หมายถึง ท่าทีของประสาทที่รู้สึกคล้อยตามซึ่งเกิดกับผู้กำลังชมศิลปวัตถุ ทั้งนี้ อันตรเพทนาการเป็นการสร้างจินตนาการของผู้ชมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับศิลปวัตถุ โดยการถ่ายทอดความรู้สึกและการตอบสนองของผู้ชมลงไปในศิลปวัตถุ
5. ศิลปะ คือ การสื่อสาร (Art as Communication)
นักปราชญ์จำนวนมากคิดว่า การสื่อสารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แท้จริงแล้วเป็นหัวใจของศิลปะ ซึ่ง เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) กล่าวไว้ว่า "...ศิลปะ คือการสื่อสารของอารมณ์ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลหนึ่งให้แก่บุคคลอื่นๆ ที่มีอารมณ์อย่างเดียวกัน โดยการใช้เส้น สี เสียง การเคลื่อนไหว หรือคำพูด อารมณ์ยิ่งรุนแรงเพียงใด ศิลปะก็ยิ่งดีเพียงนั้น..."
6. ศิลปะ คือ การแสดงออก (Art as Expression)
ทฤษฎีนี้ถือว่า วัตถุประสงค์ของศิลปะอยู่ที่การแสดงอารมณ์ภายในของมนุษย์ออกมาให้ปรากฏ แม้ว่า ศิลปะเป็นการแสดงออกซึ่งอารมณ์ก้ตาม แต่การแสดงอารมณ์ทุกอย่างก็มิได้เป็นศิลปะไปเสียทั้งหมด
7. ศิลปะ คือ คุณลักษณะของประสบการณ์ (Art as a Quality of Experience)
จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) กล่าวว่า ศิลปะคือคุณลักษณะซึ่งแทรกอยู่กับประสบการณ์ ซึ่งพบได้ในประสบการณ์ทั่วไปของเรานี่เอง ลักษณะทางสุนทรีย์มีอยู่ในประสบการณ์ทั่วไปทั้งหมด
ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความหมายของศิลปะมีความแตกต่างแยกออกไปได้อย่างน้อย 7 ความหมาย ตามหลักแนวคิดหรือทฤษฎีที่ยกมากล่าวข้างต้น ส่วนใครจะเห็นด้วยกับแนวคิดหรือทฤษฎีใดก็สุดแท้แต่ทัศนะของแต่ละบุคคลว่ามีการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นศิลปะมาเช่นไรบ้าง มีประสบการณ์ด้านศิลปะมาอย่างไร และต่อไปก็ไม่แน่ว่า เมื่อมีผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะมากขึ้น อาจมีทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับศิลปะเกิดขึ้นอีกก็ได้ และนั่นหมายความว่า ความหมายของศิลปะก็สามารถขยายจำนวนความหมายออกไปได้อีกเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง :
มานพ รักการเรียน.มนุษย์กับการใช้เหตุผล จริยธรรม และสุนทรียศาสตร์. กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหา
จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2545.
Harold H. Titus. Living Issues in Philososhy. New York : U.S.A.,1964.